วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความเป็นมาของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส


350 ปี คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสและ 346 ปี ที่อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนจักรไทย
พระสังฆราช ฟรังซัวส์ ปัลลือ และ พระสังฆราช ปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อต

350 ปี สงฆ์มิสซังต่างประเทศ เส้นทางสายศรัทธาเพื่อเอเชีย ด้วยน้ำตา เลือดเนื้อ และชีวิต
ประวัติคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Etrangeres de Paris) กับประเทศไทย ถือว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เนื่องจากคณะฯ ได้ก่อตั้งขึ้น และได้ส่งมิสชันนารีเข้ามากรุงศรีอยุธยา อาณาจักรสยามของเราตั้งแต่แรกเริ่ม จนกระทั่งปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง บ้านศูนย์กลางของคณะที่ปารีส มีภาพใหญ่ภาพหนึ่ง เป็นภาพวาดแสดงให้เห็นพิธีส่งธรรมทูตไปทำงานในประเทศมิสซัง มีความหมายและสำคัญมาก เป็นการส่งไป “ขาเดียว” คือหมายถึงไปแล้ว “ไม่มีขากลับ” คนที่สมัครใจเป็นธรรมทูต ต้องมีความเชื่อเข้มแข็ง มีความกล้าหาญ ใจเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง “ยอมตายก่อนตายจริง” เป็นการอุทิศชีวิตเพื่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์แล้ว
ที่บ้านศูนย์ของคณะฯ มีห้องนิทรรศการ ที่แสดงถึงประวัติการทำงานของคณะฯ ในประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศไทยด้วยและมีภาพวาดแสดงให้เห็นถึงอดีต ประสบการณ์ที่ยากลำบากของสมาชิกที่ทำงานในประเทศต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้ของสมาชิกและที่สำคัญคือมีภาพการเบียดเบียนศาสนา “มีสมาชิกหลายคนถูกฆ่า ตัดศีรษะ ตรึงกางเขนและทรมานในหลายประเทศ” ภาพที่ได้เห็นเหล่านี้ ยังคงติดตามอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้ คณะเอ็มอีพี ตั้งขึ้น ค.ศ. 1658/2201 เขาถือเอาวันที่สมณกระทรวงเสนอชื่อพระสังฆราชฟรังซัวส์ ปัลลือ และพระสังฆราช ปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อต เป็นผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปา ที่ขึ้นต่อสมณกระทรวงประกาศพระวรสาร (Propaganda Fide) เพื่อส่งธรรมทูตไปประกาศข่าวดีในทวีเอเชีย และสร้างพระศาสนจักรท้องถิ่น สมเด็จพระสันติปาปาอเล็กซันเดอร์ ที่ 7 ทรงอนุมัติเรื่องนี้วันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1658/2001 ส่วนพระสังฆราชอิกญาซิโอ โกโตลังดี นั้น พระสังฆราชปัลลือและพระสังฆราชลังแบรต์เป็นผู้เสนอชื่อของท่าน พระสังฆราชปัลลือได้รับอภิเษกที่กรุงโรม วันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1659 ส่วนพระสังฆ ราชลังแบรต์ได้รับอภิเษกที่ปารีส วันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1660 และพระสังฆราชโกโตลังดี ได้รับอภิเษกที่ปารีส วันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660

ศูนย์กลางของคณะที่ถนนบัค (Bac) ได้ตั้งขึ้น ค.ศ. 1662 และรับพระสงฆ์ที่สมัครเข้าคณะเพื่อจะเป็นธรรมทูต วันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1663 ได้สร้างบ้านเณรของคณะขึ้น





พระสังฆราชลังแบรต์ ธรรมทูตชุดแรกออกจากเมืองมาร์เซย ฝรั่งเศส วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 มาถึงเมืองมะริด 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1662 พักอยู่ 3 เดือน และเดินทางต่อมาเพชรบุรีและลงเรือมาถึงอยุธยา

พระสังฆราชลังแบรต์มาถึงอยุธยา วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 ได้รับแต่งตั้งให้ไปทำงานที่ โคชินจีน (เวียดนามได้) แต่ช่วงนั้นเกิดการเบียนเบียนศาสนาขึ้นจึงต้องพักอยู่ที่อยุธยาซึ่งมีเสรีภาพมาก กว่าและที่อยุธยาก็มีคนเวียดนามอพยพมาอยู่ด้วย

สมัยนั้นตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ค.ศ. 1656-1688) สยามมีประชาชนอยู่ ประมาณ 3-4 ล้านคน อาศัยกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ

พระสังฆราชที่เป็นประมุขมิสซังสยามองค์แรกคือ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ระหว่าง ค.ศ. 1674-1696 ซึ่งเป็นมิสชันนารีเดินทางมากับพระสังฆราชปัลลือ ท่านสนใจพิเศษเกี่ยวกับภาษาสยาม ภาษาบาหลี ได้แปลและเขียนหนังสือพระคัมภีร์เป็นภาษาสยามไว้หลายเล่ม เป้าหมายของคณะเอ็มอีพี เพื่อประกาศข่าวดีในดินแดนที่ยังไม่มีหรือมีคริสตังน้อยเพื่อก่อตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่นขึ้นมา สร้างบ้านเณรเพื่อบวชพระสงฆ์พื้นเมือง








บรรดาธรรมทูตเหล่านี้ ต่างก็ประสบปัญหา ความยากลำบากจากสิ่งต่างๆ คือ เรื่องภาษา ต้องเรียนด้วยความยากลำบาก ในอดีตที่ผ่านมา มีไม่กี่คนที่สามารถเรียนภาษาไทยได้อย่างดีทั้งพูด เขียน เช่น พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ที่มีผลงานด้านการเขียนหนังสือไว้มากมาย
อาหารการกิน ก็ต้องพยายามกินอยู่ให้เหมือนกับคนท้องถิ่นคนไทย บางคนกินไม่ได้ก็กลาย เป็นปัญหาต่อสุขภาพ ล้มป่วยและตายทั้งๆ ที่ยังหนุ่ม มาอยู่เพียงไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปีเท่านั้น หรือบางคนก็อายุสั้นเกินกว่าที่ควรจะเป็น

ทุกคนที่สมัครเป็นธรรมทูต ต้องถือว่าแต่ละคนมีอุดมการณ์ด้านศาสนาเต็มที่ พร้อมที่จะเสีย สละชีวิตของตนเองเพื่อพระเป็นเจ้า เพื่อการประกาศศาสนา ข้อคำสอนและหลักปฏิบัติ สมัยนั้นการประกาศศาสนาข้อคำสอนและหลักปฏิบัติ สมัยนั้นก็ค่อนข้างจะมีคำตอบสำเร็จให้กับทุกเรื่อง อะไรที่ขัดข้องย่อมทำไม่ได้ พร้อมที่จะยอมหักไม่ยอมงอ ยอมถูกไล่ ยอมถูกฆ่าตาย แต่ไม่ยอมทำผิดต่อข้อ คำสอน ความเชื่อ และหลักปฏิบัติ ซึ่งในสมัยนั้นถือเคร่ง และการศึกษาเรื่องโลกนอกทวีปยุโรปยังไม่ค่อยมี




มีไม้บรรทัดไว้ในมือ มีคัมภีร์อยู่ในใจ มีคำสอนถูกผิดอยู่ที่ในหัว!

วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ก็ต้องเรียนรู้ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม วิถีชีวิตบางอย่างก็ทำได้ บางอย่างก็ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อข้อความเชื่อ หลักปฏิบัติของคริสตัง จนทำให้กลายเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง โดนไล่ออกนอกประเทศก็มี อย่างเช่นในสมัยพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 3
บรรดาธรรมทูตเหล่านี้ยังได้นำความรู้และวิชาการจากยุโรป เช่น การศึกษา การแพทย์ ยารักษาโรคแผนใหม่ โรงพยาบาล ดาราศาสตร์ การพิมพ์ กล้องถ่ายภาพ แว่นตา ฯลฯ มาสู่ประเทศไทยด้วย
สมัยพระสังฆราชลาโน ได้รักษาคนป่วยและออกไปรักษาตามบ้าน และมีโครงการสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยุธยา ให้เหมือนกับในฝรั่งเศสสมัยนั้น แต่ข้อเสนอนี้ทางบ้านเมือง ยังไม่เห็นชอบด้วย



พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทาน “ธรรมาสน์ปิดทอง” อย่างสวยงามแก่พระสังฆราชลาโน สำหรับไว้เทศน์สอนในวัด เนื่องจากมิสซังได้ช่วยรักษาคนป่วยให้หายด้วยความเมตตา โดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ และยังพระราชทานเรือพร้อมทั้งฝีพายให้กับมิสชันนารีออกไปรักษาคนป่วยตามบ้าน

ด้านการศึกษา ซึ่งมิสชันนารีได้เปิดโรงเรียนขึ้น พระเจ้าแผ่นดินได้ส่งเด็ก 10 คน ให้มิสชันนารีสอน ซึ่งสมัยนั้นอยุธยามีบ้านเณรใหญ่ ระดับวิทยาลัย รับนักศึกษาจากมาเก๊า ตังเกี๋ย โคชินจีนและจากจีน มาเรียนและบวชที่อยุธยาด้วย และบ้านเณรนี้ต้องย้ายไปที่ต่างๆ หลังพม่ายึดกรุงศรีอยุธยาต้องไปที่เวียดนาม อินเดีย และที่สุดย้ายไปอยู่ที่ปีนัง (College Generale)










คุณพ่อยัง ดังโตแนล อธิการเจ้าคณะในประเทศไทยในปัจจุบัน ได้เล่าใหฟังว่า “ปัจจุบัน สมาชิกทั่วโลกมีประมาณ 300 องค์ อยู่ในประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด 30 องค์ อยู่ในประเทศไทยเป็นอันดับสอง 24 องค์ มีเพียง 3 องค์ ที่อายุต่ำกว่า 65 ปี คุณพ่ออแลง คุณพ่อโอลิเวียร์ และ คุณพ่อนิโคลาส์ และคนที่เข้ามาเป็นพระสงฆ์ในคณะก็น้อยลงๆ อาจจะมีบวชปีละสัก 2-3 คน หรือ 2-3 ปีมีคนหนึ่ง แต่คนที่ถึงแก่มรณภาพจะมีประมาณปีละ 10 กว่าคน



“เป้าหมายของคณะคือสร้างพระศาสนจักรท้องถิ่น ไม่ได้สร้างคณะตนเองให้ใหญ่โตดังนั้นจึงมุ่งทำทุกอย่าง เพื่อให้พระศาสนจักรท้องถิ่นเติบโต และยืนอยู่ด้วยตนเอง”




คณะมีมรณสักขี 24 องค์ ที่เวียดนาม 10 องค์ เป็น พระสังฆราช 2 องค์ พระสงฆ์ 8 องค์, เกาหลี 10 องค์ เป็นพระสังฆราช 3 องค์ พระสงฆ์ 7 องค์, ที่จีนมี 4 องค์ เป็นพระสังฆราช 1 องค์ พระสงฆ์ 3 องค์

เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ประมาณ ค.ศ. 1910 มีสมาชิกถึง 1,000 คน แต่ ค.ศ. 1950-1960 มีเณรเหลือเพียง 70 คน ก่อนหน้านี้มี 150 คน และ ค.ศ. 1973 ต้องปิดบ้านเณร เพราะไม่มีคนสมัครเข้ามาเป็นเวลาถึง 10 ปี










“ค.ศ. 1978 ผมได้รับหน้าที่ให้รับผิดชอบเรื่องส่งเสริมกระแสเรียกของคณะ เริ่มมีเณรบ้าง”
คุณพ่อยัง ดังโตแนล ได้เล่าให้ฟังอีกว่า “ เมื่อ ค.ศ. 1986 คณะได้มีวาระหนึ่งในการประชุมใหญ่ว่าจะมีรับคนพื้นเมืองเข้าเป็นเณรของคณะไหม?” ที่ประชุมและผมเองก็ไม่เห็นด้วยที่จะรับ เพราะเราถือว่าจุดประสงค์ของเราตั้งขึ้นมา เพื่อก่อตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่น การที่รับคนท้องถิ่นมาเข้าคณะ เพื่อทำให้คณะเจริญก้าวหน้า ไม่ตรงกับจุดประสงค์ของคณะ และการทำงานของเราต้องถือว่า พระ ศาสนจักรท้องถิ่นสำคัญและใหญ่กว่าของคณะ ไม่ใช่ถือว่า คณะสำคัญและใหญ่กว่าพระศาสนจักรท้องถิ่น”

“อย่างไรก็ตาม ก็เปิดโอกาสรับเฉพาะผู้ที่บวชเป็นพระสงฆ์แล้ว เข้ามาเป็นสมาชิกบ้าง ตอนนี้ก็มีจากอินเดีย และเกาหลีบ้าง ทำงานอยู่ที่มาดากัสการ์ และที่กัมพูชาก็มี พระสังฆราชชื่อแอนโทนี ซามี”
ถ้าคณะเอ็มอีพี จะต้องปิดหรือตายไปเพราะไม่มีคน คิดอย่างไร ?
คุณพ่อหยุดสักนิดหนึ่งสักนิดหนึ่ง และตอบอย่างมั่นใจ “ถ้าคณะจะต้องปิดก็ปิด เพราะเราก็ตั้งมานานถึง 350 ปีแล้ว และจุดประสงค์ของคณะก็เพื่อก่อตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่น ซึ่งในเวลานี้พระศาสนจักรก็ได้เจริญก้าวหน้ามากในหลายๆ แห่ง สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปมาก คณะไม่สำคัญเท่ากับพระศาสนจักรท้องถิ่น”




“คณะเอ็มอีพี ไม่เหมือนกับคณะนักบวช และผมก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการทำงานที่เน้นเพื่อคณะของตนมากกว่าของพระศาสนจักรท้องถิ่น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

“เวลานี้ สมาชิกเรามีน้อย แต่งานที่เรายังสามารถทำได้ คือ งานสร้างจิตตารมณ์การเป็นธรรมทูตนั้น ต้องสร้างและยังมิให้ทำอีกมาก แม้พระสงฆ์สังฆมณฑล พระสงฆ์นักบวช ก็ต้องปลูกฝังให้มีจิตตารมณ์ธรรมทูตด้วย และเมื่อมองสภาพความเป็นจริงเวลานี้ เรามีจำนวนพระสงฆ์พื้นเมืองจาก แสงธรรมที่เป็นคนไทยถึง 500 องค์แล้ว แต่เรื่องจิตตารมณ์ด้านธรรมทูตสังเกตว่ายังไม่ชัดเจน และบางคนก็คิดแบบปิดตัวเองเกินไป”

สมัยนี้พระศาสนจักรต้องเน้นเรื่องศาสนสัมพันธ์และจิตตารมณ์ธรรมทูต
คุณพ่อจักแมง อายุ 86 ปี อดีตเจ้าคณะเอ็มอีพี ถึง 15 ปี และถือว่าเป็นผู้อาวุโสที่สุดในคณะฯ ในประเทศไทยเวลานี้ ได้กล่าวถึงความรู้สึกว่า “รู้สึกว่างานแรกที่สมเด็จพระสันตะปาปามอบให้คณะสำเร็จแล้ว คือ ตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ในเอเชีย มีพระสังฆราช องค์กรต่างๆ ก็มีความพร้อมแล้ว”









คณะเองได้รับมอบหมายให้ทำงานในทวีปเอเชียเป็นหลัก ต่อมาเมื่อโดนคอมมิวนิสต์ไล่ออกจากจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ก็มาทำงานที่ประเทศบราซิล (แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว) ที่อินโดนีเซีย มาดากัสการ์และทวีปแอฟริกา งานอย่างอื่นๆ ก็ยังไม่ทราบแน่ว่าจะเป็นงานอะไร เวลานี้มีพระสงฆ์ที่ยังทำงานกับคนจน ชาวเขา ชนเผ่าอยู่สองสามคน ตามที่พระสังฆราชมอบหมายให้ทำ





พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย แม้จะมีคริสตังไม่มากนัก เพียงแค่ 3 แสนคน ตลอดเวลากว่า 400 ปี แต่การที่มิสชันนารีได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นด้วยความเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้การศึกษาแก่ลูกหลานคนไทย ทั้งชายและหญิง สมัยนั้นยังไม่สนใจการศึกษากัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของพระศาสนจักรและของประเทศไทยเวลานี้ และสังฆมณฑลต่างๆ ก็มีพระสังฆราชคนไทยทั้งหมดแล้วในระยะ 30 ปีที่ผ่านมานี้

พระศาสนจักรในประเทศไทย จึงต้องสำนึกและขอบคุณคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นพิเศษ ที่ได้ทุ่มเทเสียสละด้วยเลือดเนื้อและชีวิต และได้อุทิศชีวิตอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ที่เป็นประจักษ์พยาน คือ หลุมศพของบรรดามิสชันนารี ที่ฝังอยู่บนแผ่นดินไทย ร่วมกับพี่น้อง คริสตชนในสุสานทั่วประเทศไทย ทั้งในป่าบนภูเขาก็มี

แน่นอนว่า ในจำนวนธรรมทูตทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ใช่ว่าทุกคนจะเป็นคนดี ทุกคน ก็ไม่ใช่ แต่ละคนก็อาจจะมีข้อบกพร่อง ผิดพลาดบ้าง ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ ในความเป็นมนุษย์ และแตกต่างวัฒนธรรมกันอย่างมาก แต่ก็เชื่อว่า สิ่งที่ได้ทำและทำได้ดีก็มีอยู่มากมาย และสืบทอดมาจนถึงเราทุกวันนี้







สิ่งที่พระศาสนจักรไทยเวลานี้ น่าจะศึกษาอดีตอย่างจริงจังกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และที่เป็นอยู่เวลานี้ ด้วยความสำนึกบุญคุณที่บรรดามิสชันนารีได้หว่านไว้ และบังเกิดผลอยู่เวลานี้ รวมทั้งมิสชันนารีคณะอื่นๆ ด้วย
การฉลองในฝรั่งเศส ค.ศ. 2008 ที่มีขึ้นสองวันที่สำคัญ วันที่ 6 มกราคม ซึ่งเป็นวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ เป็นวันฉลองของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และวันที่ 8 มิถุนายน จัดงานฉลองที่มหาวิหารนอเตรอตาม (Notre Dame) ปารีส
หากจะมองอดีตคณะเอ็มอีพี ก็จะเห็นว่า “ศตวรรษที่ 17 เริ่มก่อตั้ง ศตวรรษที่ 18 โดนเบียดเบียน, ศตวรรษที่ 19 เจริญก้าวหน้า ศตวรรษที่ 20 ส่งมอบให้พระศาสนจักรท้องถิ่น”













พระศาสนจักรไทยและอีกหลายประเทศเวลานี้ได้ “รับช่วง” ต่อมาจากมิสชันนารีมาได้ระยะหนึ่งแล้ว บัดนี้พระศาสนจักรได้กลายเป็นพระศาสนจักรท้องถิ่นแล้ว










พระพรพิเศษของคณะ
สมาชิกทุกคนต้องเป็นมิสชันนารีประกาศพระวรสารให้เหมาะสมกับความต้องการของถ้องถิ่น

จิตตารมณ์ของคณะ
ผู้ตั้งคณะได้ยึดรูปแบบของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงรับเอาสภาพมนุษย์ มาเป็นจิตตารมณ์ของคณะ ดังนั้น สมาชิกจึงได้มีการเปลี่ยนแปลง และโอนกิจการให้กับพระศาสนจักรท้องถิ่น เพื่อไปบุกเบิกที่อื่นโดยยึดการเอาใจใส่ต่อคนยากจนเป็นพิเศษ

ภารกิจ
คณะมิสซังต่างประเทศรับใช้พระศาสนจักรท้องถิ่นและร่วมมือกับพระสงฆ์ประจำสังฆมณฑล ปลูกฝังจิตตารมณ์ธรรมทูตและส่งเสริมคริสตชนทุกคนให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในพระศาสจักรสากล



อธิการเจ้าคณะแขวงคนปัจจุบันในประเทศไทย
คุณพ่อ ยัง มารี ดังโตแนล
ที่อยู่ในประเทศไทย
คณะมิสซังต่างประเทศ (MEP)
254 ถนนสีลม แขวงสุรวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
โทร. 02-234-1714, 02-268-1210 โทรสาร 02-237-1338




อ้างอิง
http://haab.catholic.or.th/MissionMEP/historymep.html